ท่อสแตนเลสเฟอร์นิเจอร์ NB
ท่านผู้อ่านที่ใช้ท่อสเตนเลสเป็นประจำคงทราบดีว่า ท่อที่เราใช้กันอยู่นั้นมีอยู่สองประเภท คือ ท่อเงา ซึ่งใช้สำหรับงานเฟอร์นิเจอร์เป็นส่วนใหญ่ และ ท่อผิวด้านใช้สำหรับงาน piping เดินระบบท่อ ท่อสองประเภทนี้ ใช้ระบบกำหนดขนาดต่างกัน กล่าวคือ ท่อเงา 1” หนา 1mm ก็จะมีขนาด OD = 25.4mm ID = 23.4mm ในขณะที่ ท่อด้านจะกำหนดขนาดเป็น NB (Nominal Bore) size หรือที่บ้านเราเรียกกันว่า ไซส์แป๊บและกำหนดความหนาด้วย schedule เช่น pipe ขนาด 1” schedule 10 (ASTM) จะมี OD (Outside Diameter) เท่ากับ 33.4mm และมีความหนา 2.77mm ซึ่งเท่ากับมี ID (Internal Diameter) 27.9mm
ขนาดของท่อเงานั้นก็สมเหตุสมผลดีนะครับ เพราะเรียกขนาดตามวงนอก แต่เจ้า NB size นี่สิ ชวนให้สับสนดีแท้ เพราะ ขนาดNB 1” นั้น ไม่ใช่ทั้งวงนอกหรือวงใน ถ้าอยากทราบขนาดวงนอก/วงในที่แท้จริงก็ต้องมาเปิดตาราง ซึ่งตาราง NB นี้ก็มีหลายมาตรฐานนะครับ มีทั้งขนาดของอเมริกา (ASTM) ญี่ปุ่น (JIS) ยุโรป (DIN) แล้วทำไมต้องมากำหนดอะไรให้มันสับสนอย่างนี้ด้วยล่ะ
มาตรฐานที่กำหนดขึ้นมาชวนสับสนอย่างนี้ ถ้าถูกกำหนดมาแต่แรกเริ่มเมื่อมนุษย์เริ่มผลิตท่อได้คงไม่ได้รับการยอมรับแน่ๆ
เรื่องนี้มีที่มาที่ไปครับ…
สเตนเลสถือกำเนิดขึ้นมาในปี 1912 ในสมัยที่ยังไม่มี สเตนเลส เราใช้เหล็กเป็นหลัก ท่อเหล็กมีการผลิตในเชิงอุตสาหกรรมมาตั้งแต่เมื่อประมาณ 150 ปีมาแล้ว ในสมัยก่อนนั้น เทคโนโลยีการผลิตท่อเหล็กยังจำกัด แรกเริ่มเดิมที ท่อเหล็กจะกำหนดขนาดตาม ID เป็นหลัก เช่น ท่อเหล็ก 1” ก็จะมีขนาดวงในเท่ากับ 1” จริง และมีความหนาอยู่ค่าเดียวสำหรับแต่ละขนาด ซึ่งก็ไม่มีอะไรให้สับสนครับ ต่อมา เมื่อเทคโนโลยีในการผลิตท่อพัฒนาขึ้น เราสามารถผลิตท่อได้บางลงและมีหลายความหนาเพื่อให้เลือกใช้ได้เหมาะสมกับลักษณะงาน คราวนี้เริ่มมีปัญหาครับ เพราะ หากยึดตามระบบเดิมคือยึด ID เป็นหลักในการใช้งาน ท่อแต่ละขนาดจะมีค่า OD หลายค่าและไม่สามารถใช้ร่วมกับท่อเดิมที่มีอยู่ได้ เพื่อให้สามารถใช้ร่วมกับท่อเดิมที่มีใช้งานอยู่แล้ว ท่อแต่ละขนาดที่ผลิตได้หลากหลายความหนานั้นจึงยึดตาม OD เป็นหลัก และให้ ID เปลี่ยนไปตามความหนา คราวนี้ OD ของท่อ 1” ใหม่เลยต้องเท่ากับ OD ของท่อ 1” ที่เคยใช้กันมาแต่แรก คือ ID (ของท่อระบบเก่า) รวมความหนา แต่พอยึดตาม ODเป็นหลัก เลยกลายเป็นว่า ID ของท่อใหม่ก็ไม่ใช่ 1” อีกต่อไป แต่จะขึ้นอยู่กับความหนาที่เปลี่ยนไป เพราะฉะนั้น ท่อ NB ขนาด 1” จึงไม่มีทั้ง OD หรือ ID ที่มีขนาด 1” แต่จำเป็นต้องเรียกว่า ท่อ 1” อยู่ เพื่อให้ใช้งานได้กับท่อในระบบเดิม ที่มาของตัวเลขชวนสับสนก็เป็นแบบนี้ล่ะครับ
ในปี 1927 ทางสมาคมมาตรฐานแห่งอเมริกาได้กำหนดมาตรฐานของท่อเหล็กขึ้นมา โดยมีแค่ 3 ความหนา คือ standard weight (STD), extra-strong (XS) และ double extra-strong (XXS) หลังจากใช้ระบบนี้ไปสักพัก ก็พบว่า ความหนาเพียง 3 ค่านี้ไม่เพียงพอสำหรับการใช้งานที่หลากหลาย ทางสมาคมจึงได้กำหนดระบบ schedule เพิ่มขึ้นมา โดยแบ่งความหนาให้ละเอียดขึ้นและอ้างอิงตามระดับแรงดันที่รับได้ ทางสมาคมตั้งใจจะให้ระบบ schedule เข้ามาแทนระบบเดิม โดยคาดหวังว่า ระบบเดิมจะถูกแทนที่ไปอย่างสมบูรณ์ด้วยระบบ schedule ในปี 1939 อย่างไรก็ตาม คำเรียกที่ใช้ในระบบเดิมก็ยังมีการใช้กันอยู่จนถึงทุกวันนี้ (บางครั้งก็เรียกว่าstandard, extra-heavy (XH), และ double extra-heavy (XXH)) ระบบ schedule เองก็มีการปรับเปลี่ยน แก้ไขหลายครั้ง และมีหลายมาตรฐานตามแต่ละอุตสาหกรรม และประเทศต่างๆหลายประเทศก็กำหนดมาตรฐานของตนเองขึ้นมา
ท่อสเตนเลสนั้น เริ่มมีการใช้กันมากขึ้นในช่วงกลางศตวรรษที่แล้ว การเข้ามาของท่อสเตนเลสทำให้เกิดความหนาใหม่ขึ้น เพราะคุณสมบัติของท่อสเตนเลสที่เกิดสนิมได้ยาก ทำให้ไม่ต้องเผื่อความหนาที่จะถูกสนิมกัดกร่อนเหมือนที่เกิดขึ้นในท่อเหล็ก ท่อสเตนเลสจึงสามารถผลิตให้บางลงไปได้อีก จึงมี schedule 5 , schedule 10 ที่ใช้กันอย่างแพร่หลายในทุกวันนี้
ในบ้านเรานั้น ส่วนใหญ่แล้วจะใช้ระบบของอเมริกันคือ ระบบ ASTM มีบ้างที่ใช้ระบบญี่ปุ่น (JIS) เวลาจะสั่งซื้อก็ตรวจสอบให้ดีนะครับ